คุณสมบัติที่น่ารู้ของ “ฉนวนกันเสียง” การแก้ปัญหาเรื่องเสียง ในบางครั้งสามารถนำ ฉนวนกันความร้อน มาประยุกต์ใช้แทน ฉนวนกันเสียงได้ แต่ก็ไม่ทุกครั้ง หรือทุกงานไป เพราะ ฉนวนกันเสียงมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาคือค่า NRC (Noise Reduction Coefficient) และค่า STC (Sound Transmission Class) ซึ่งสำคัญมากในการบอกว่า ฉนวนนั้นจะลดเสียงลงได้ประมาณเท่าไร แต่สำหรับฉนวนกันความร้อน ตัวแปรที่ต้องพิจารณาจะเป็นเรื่องของ Thermal Conductivity และ Density เป็นหลัก เพราะสองค่านี้สามารถนำมาคำนวณได้ว่า ความร้อนจะลดลงเหลือเท่าไรหากติดตั้งฉนวนไปแล้ว
แผ่นซับเสียง , แผ่นกันเสียง , แผ่นเก็บเสียง แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
แผ่นซับเสียง (sound absorption) และ แผ่นเก็บเสียง (acoustic board) จะใช้สำหรับ แก้ปัญหาเสียงก้อง และ เสียงสะท้อน ในห้องหรือในอาคาร มีหลักการทำงานคือยอมให้เสียงผ่านเข้ามาใน ฉนวนและดูดซับพลังงานเสียง นั้นเอาไว้ส่วนหนึ่ง เปรียบเสมือนกับเราเอาฟองน้ำซับน้ำที่หกลงบนโต๊ะ แต่สำหรับ แผ่นกันเสียง (soundproof) จะมีความแตกต่างตรงที่จะไม่ยอมให้เสียงผ่านไปได้ คล้ายกับการสาดน้ำใส่แผ่นพลาสติคที่น้ำจะกระเด็นกลับมา เป็นต้น
วัสดุดูดซับเสียง วัสดุซับเสียง วัสดุกันเสียง วัสดุเก็บเสียง มีอะไรบ้างที่นิยมกันในปัจจุบันนี้
วัสดุซับเสียง และ วัสดุกันเสียง ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ ประเภทที่เป็นไฟเบอร์ หรือเส้นใย อย่างเช่น ใยแก้ว และใยหิน ซึ่งจะมีความอ่อนนุ่มให้ตัวได้ และส่วนใหญ่จะไม่กันน้ำ กับอีกประเภทคือ วัสดุที่เป็นยาง หรือไวนิล ที่มีผิวเรียบ ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหา หากสัมผัสกับน้ำหรือของเหลว
ารดูดซับเสียงหรือการควบคุมเสียงสะท้อน (Sound Absorption)
การออกแบบห้องที่ต้องการลดเสียงสะท้อน เช่น ห้องประชุม, โรงละคร, โรงภาพยนตร์, ห้องบรรยาย, ห้องดูหนัง – ฟังเพลง, ห้องคาราโอเกะ หากมีเสียงสะท้อน หรือเสียงก้องเกิดขี้น จะทำให้ประสิทธิภาพของเสียงที่หูของผู้ฟังได้ยินอาจลดประสิทธิภาพลงไป ดังนั้นต้องออกแบบให้มีวัสดุที่สามารถดูดซับเสียงได้ดี เพื่อป้องกันเสียงที่มากระทบฝ้าเพดาน พื้น ผนัง โดยสามารถดูได้จากค่า NRC ซึ่งเป็นค่าที่ระบุความสามารถการดูดซับเสียงของวัสดุต่าง ๆ
วัสดุทุกชนิดสามารถดูดซับเสียงได้ในระดับที่แตกต่างกันไป เมื่อคลื่นเสียงวิ่งกระทบวัสดุ จะมีบางส่วนของพลังงานเสียงถูกดูดซับและที่เหลือจะสะท้อนออกไป และเสียงที่สะท้อนออกไปนั้นจะมีพลังงานน้อยกว่าแหล่งกำเนิดเสียงเสมอ และพลังงานเสียงที่ถูกดูดซับเข้าไปจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานรูปอื่น โดยทั่วไปจะเป็นความร้อน และจำนวนพลังงานที่ถูกดูดซับเข้าไปจะถูกแสดงในรูปของสัมประสิทธิ์การดูดซับเสียง (Sound Absorption Coefficient) คือค่าที่แสดงความสามารถในการดูดซับเสียงของวัสดุ ถ้าหากใช้วัสดุที่ดูดซับเสียงไม่ดีจะทำให้เกิดเสียงก้องภายในห้องนั้น ๆ ได้ สามารถพิจารณาค่าต่าง ๆ ได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
Sound Absorption Coefficient (SAC)
SAC หมายถึงสัดส่วนของพลังงานเสียงที่ถูกดูดซับไปเมื่อชนกระทบ เทียบกับพลังเสียงจากแหล่งกำเนิด ยกตัวอย่าง เช่น มีวัสดุหนึ่งมีค่า SAC 0.85 นั่นก็หมายความว่าพลังเสียง 85% ได้ถูกดูดซับไว้เมื่อเคลื่อนที่ไปชนกับวัสดุนี้ และ 15% ของพลังงานที่เทียบกับแหล่งกำเนิดจะสะท้อนออกมาค่าการดูดซับเสียงของทุกวัสดุจะแปรผันกับความถี่ของเสียงที่เข้าไปกระทบ ดังนั้นค่าการดูดซับเสียง (SAC) จะถูกวัดที่หลายความถี่คือ 125, 250, 500, 1,000, 2,000 และ 4,000Hz ความถี่เหล่านี้เป็นความถี่ตรงกลางของเสียงที่วิ่งกระทบน้อยมากที่จะมีการ ใช้ค่า SAC ของเสียงที่ช่วงความถี่เดียวในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม หรือระบุว่าวัสดุใด ๆ มีค่า SAC เป็นเท่าไร ในการออกแบบสถาปัตยกรรมค่า SAC จะเป็นค่าดูดซับเสียงที่ความถี่ที่เจาะจงเท่านั้น